สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1653  ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้

วรรคสอง ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย

 

วรรคสาม พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตามมาตรา ๑๖๖๓ ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562 ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2553 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่าหากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดกว่า คือ นายจุล นางสาวลำพวน และจำเลยที่ 1 ไว้โดยชัดแจ้ง แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสามแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์ และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 ประกอบ มาตรา 1705 คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่มีข้อกำหนดให้ตกเป็นของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับนั้นจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2538 ลายมือชื่อของผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อของว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า"ผู้พิมพ์"ส่วนลายมือชื่อของว.มีข้อความต่อท้ายว่า"ผู้พิมพ์"และว.เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียวกรณีจึงมีข้อสงสัยว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้องซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหายในการนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา11จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1653วรรคแรกอันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา1705เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะแต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656ทุกประการพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่าถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดากรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา136เดิมพินัยกรรมจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมทั้งได้ความว่าการจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1718จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม